จากกรณี เฟซบุ๊ก มีด่าน อุบลราชธานี ได้โพสต์ภาพท้องฟ้าที่มี “แท่งประหลาด” โผล่ออกมาจากเมฆสีรุ้ง โดยระบุว่า “แท่งอีหยังครับ เมื่อวาน (20 ต.ค.67) เวลา 17.35 นาที ถนนอุบลเขื่องใน มองบนทองฟ้ามีหลายสีสวยมากค่ะ แต่ถ่ายไปติดภายเป็นแท่งอะไรไม่รู้ค่ะ มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นนะคะ พอเอารูปมาดูเป็นแบบนี้เลย อะไร ลำแสงอะไรน้อ ก็เลยส่งมาให้ดูค่ะ”
ล่าสุด รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า
“ถ้าภาพถ่ายนี้เป็นภาพจริง ไม่มีการตัดต่ออะไร ก็พอจะวิเคราะห์เรื่องนี้ ได้ว่าประการแรก วิวเมฆสีเหลือบ ๆ นี้ เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เรียกว่า “หมวกเมฆสีรุ้ง” เห็นได้บ่อย ๆ เกิดจากแสงอาทิตย์ที่มากระทบกับผลึกน้ำแข็งในก้อนเมฆ และเกิดการแทรกสอดของแสงสีต่างๆ จนเห็นเหมือนเป็นสีรุ้ง
ซึ่งในโพสต์ดังกล่าว ก็มีอีกหลายคนที่มาคอมเม้นต์พร้อมรูปถ่ายทำนองเดียวกัน และเห็นชัดเจนว่าเป็นหมวกเมฆสีรุ้ง แต่สำหรับบริเวณที่ดูเป็น “แท่งสีดำ” ประหลาดนั้น ยังไม่ชัดเจนและน่าสงสัยอยู่ว่าคืออะไรกันแน่ ? เพราะผู้โพสต์บอกว่า มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่ถ่ายติดมา?
คือถ้ามี “เงาสีดำ” บนท้องฟ้า เหมือนเมฆถูกแหวกออก และมองได้ด้วยตาเปล่าเนี่ย ก็อาจจะเป็นปรากฏการณ์ “ดิสเทรล distrail” ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตรงกันข้ามกับ “คอนเทรล contrail” หรือเมฆท้ายเครื่องบิน ครับดิสเทรล เป็นปรากฏการณ์ที่พบเห็นได้ แต่หายาก ไม่พบบ่อยเหมือนกับคอนเทรล (ที่เราเห็นเป็นแนวเมฆเส้นยาวบนท้องฟ้า เกิดจากผลของเครื่องยนต์เจ็ตเครื่องบิน และหลายคนเข้าใจผิดคิดว่า เป็นแนวจรวดยิงผ่าน)
ลักษณะของดิสเทรล จะเป็นช่องตัดผ่านชั้นของเมฆ เหมือนเมฆถูกแหวกออก ดิสเทรล เกิดขึ้นได้เมื่อเครื่องบินบินผ่านชั้นบาง ๆ ของเมฆ และความร้อนจากเครื่องยนต์ได้ทำให้ก้อนผลึกน้ำแข็งในเมฆ ระเหยกลายเป็นไอน้ำ เลยเห็นเป็นช่องตัดผ่านเมฆ
หรืออีกทางหนึ่ง เกิดขึ้นระหว่างที่เครื่องบินบินผ่านชั้นของเมฆที่มีหยดน้ำเย็นจัดถึงจุดเยือกแข็ง (แต่ยังไม่กลายเป็นผลึกน้ำแข็ง) แล้วความปั่นป่วนของกระแสลมที่เกิดขึ้นขณะเครื่องบินผ่าน กระตุ้นให้กลายเป็นน้ำแข็ง หล่นลงสู่เมฆชั้นล่าง เลยเห็นเป็นช่อง แต่ ๆ อย่างที่บอกไปแล้วว่า ถ้าเป็น distrail จริง ก็น่าจะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าครับ
เรื่องนี้คงยังเป็นปริศนาต่อไปว่าเกิดจากอะไรแน่ (หวังว่าจะไม่ใช่ภาพตัดต่อ หรือเป็นความผิดปรกติของกล้องถ่ายรูปนะครับ)”