หลายคนอาจเริ่มมีโอกาสได้เห็น ‘รถทันตกรรมเคลื่อนที่’ ที่เคลื่อนเข้ามามีบทบาทในชีวิตประชาชนมากขึ้น ภาพของรถโค้ชขนาดใหญ่ที่ถูกดัดแปลงเป็นคลินิกทำฟันขนาดย่อม วิ่งออกไปให้บริการกับประชาชนได้ทั่วทุกแห่งของประเทศ
แน่นอนว่าสิ่งที่รถคันนี้สามารถสร้างได้ทันที นั่นคือการเพิ่ม ‘การเข้าถึง’ บริการทำฟันของคนในพื้นที่ต่างๆ ได้มากขึ้น จากเดิมที่อาจไม่เคยได้ทำฟัน หรือไปหาหมอฟันได้ลำบากเพราะอยู่ห่างไกล เป็นต้น
เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้ปัจจุบันบริการทันตกรรมจะถูกบรรจุไว้เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่ช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาแล้วก็ตาม แต่บางรายอาจต้องจ่าย ‘ค่าเดินทาง’ เพื่อไปหาหมอฟันที่แพงกว่าค่ารักษาเสียอีก รถทันตกรรมเคลื่อนที่จึงน่าจะเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่เข้ามาตอบโจทย์ปัญหานี้ได้
มีโอกาสได้ร่วมพูดคุยกับ รศ.ทพ.แสวง โพธิ์ไทรย์ นายกสมาคมรถทันตกรรมเคลื่อนที่แห่งประเทศไทย ที่เข้ามาช่วยฉายภาพให้เห็นถึงโอกาสจากรถทันตกรรมเคลื่อนที่ และมุมมองของประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นได้กับทั้งผู้รับบริการ และผู้ให้บริการ บนปัจจัยความสำเร็จที่ยังต้องการ ‘แรงผลัก’ จากรัฐบาล เพื่อให้รถทันตกรรมนี้เคลื่อนที่ต่อไปข้างหน้าได้
‘รถทันตกรรมเคลื่อนที่’ บริการใหม่ที่ไม่ต่างไปจากคลินิก
รถโค้ชขนาดใหญ่ซึ่งมองผิวเผินอาจคิดว่าเป็นรถโดยสาร หากสายตาไม่หันไปเจอกับสัญลักษณ์ข้างรถที่ระบุว่านี่คือ “รถทันตกรรมเคลื่อนที่” ซึ่งหลังกระจกภายในรถคือภาพของทันตแพทย์และผู้ช่วย กำลังให้บริการแก่ผู้ป่วยที่อยู่บนเก้าอี้ทำฟัน ในขณะที่ด้านล่างมีเจ้าหน้าที่คอยบริหารจัดการ จัดคิวการรับบริการ พร้อมจุดพักคอยของผู้ป่วย เพื่อรอคิวเรียกขึ้นรถไปพบกับหมอฟัน
ทั้งหมดนี้คือลักษณะของรถทันตกรรมเคลื่อนที่ ซึ่ง รศ.ทพ.แสวง ระบุว่า อุปกรณ์เครื่องมือทันตกรรมทุกอย่างที่อยู่บนรถ จะเหมือนกับห้องทำฟันที่คลินิกทันตกรรมทั่วไป หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นการยกห้องทำฟัน มาอยู่ในรถทันตกรรมเคลื่อนที่นั่นเอง
ส่วนของภายในรถจะแบ่งออกเป็น 2 ห้อง รองรับเก้าอี้ทันตกรรม 2 ตัว โดยมีอุปกรณ์เครื่องมือทันตกรรมที่จำเป็นเพื่อรองรับทุกเคสและทุกระดับการรักษา พร้อมภายในยังมีเครื่องกำจัดเชื้อ เครื่องดูดอากาศ เครื่องปั่นไฟกรณีฉุกเฉิน ระบบจัดการน้ำดี-น้ำเสีย ระบบฆ่าเชื้อโรค รวมไปถึงอุปกรณ์กู้ชีพเบื้องต้นติดตั้งเอาไว้ด้วย
รศ.ทพ.แสวง เล่าว่า โดยมาตรฐานการออกให้บริการของรถทันตกรรมเคลื่อนที่ในแต่ละครั้ง จะต้องมีบุคลากรอย่างน้อย 7 คน เริ่มด้วย ทันตแพทย์ 2 คน ผู้ช่วยทันตแพทย์ 2 คน เจ้าหน้าที่จัดคิว/ให้ความรู้ด้านสุขภาพช่องปาก 2 คน และคนขับรถผู้ทำหน้าที่ดูแลระบบของรถไปด้วยอีก 1 คน
สนนราคาสำหรับรถทันตกรรมเคลื่อนที่ 1 คัน ที่ประกอบขึ้นตามเกณฑ์มาตรฐานของทันตแพทยสภา และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นั้น จะมีราคาอยู่ที่คันละประมาณ 4-10 ล้านบาท โดยหากเป็นรถที่ประกอบในประเทศจะมีราคาราว 4-6 ล้านบาท แต่ถ้าสั่งประกอบจากจีนจะอยู่ที่ราว 8 ล้านบาท และหากนำเข้าจากสหรัฐอเมริกาก็จะมีราคาสูงขึ้นมาที่ประมาณ 10 ล้านบาท
“แต่ถ้าจะทำ 3 ห้อง หรือ 3 ยูนิตทำฟันเลย ก็ต้องเพิ่มเงิน เพราะต้องใส่เก้าอี้ทำฟันเพิ่ม ก็ต้องจ่ายอีกล้านบาท” นายกสมาคมรถทันตกรรมฯ ให้ข้อมูล
เขาให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงสมาคมรถทันตกรรมฯ ซึ่งก่อตั้งกันขึ้นมาได้ประมาณ 2 ปีเศษ จากเดิมที่เป็นชมรมฯ โดยในช่วงแรกมีรถทันตกรรมเคลื่อนที่เพียง 1-2 คัน แต่ภายหลังจากที่ สธ. แนะนำให้ยกระดับจัดตั้งเป็นสมาคม เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับให้บริการสุขภาพกับประชาชน จำนวนของรถก็เพิ่มเติมขึ้นมาเป็น 10 คัน
“แต่ถ้าเทียบภาพรวมทั้งประเทศ ก็ยังน้อย และกระจุกตัว โดยมี 3 คันอยู่ที่เชียงใหม่ อีก 2 คันอยู่ที่โคราช ที่เหลืออยู่กรุงเทพฯ” เขาให้ภาพ
อย่างไรก็ตาม รศ.ทพ.แสวง มองว่ารถทันตกรรมเคลื่อนที่เป็นของใหม่ และเป็นนวัตกรรมที่เราเพิ่งจะเริ่มมีให้บริการมากขึ้น ซึ่งหากในอนาคตมีการสนับสนุนบริการทำฟันจากรถทันตกรรมเคลื่อนที่อย่างจริงจัง ก็จะช่วยทำให้จำนวนรถมีเพิ่มขึ้น และเป็นอีกทางเลือกสำหรับบริการประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ได้เข้าถึงอย่างทั่วถึงและครอบคลุมมากขึ้น
“ศักยภาพของรถทันตกรรมเคลื่อนที่ มีคุณภาพและมาตรฐานเหมือนกับบริการที่คลินิกทันตกรรม สามารถรักษาได้ตั้งแต่งานปฐมภูมิ ทั้งขูด อุด ถอน เคลือฟลูออไรด์ ไปจนถึงรักษารากฟัน ใส่ฟันเทียม หรือเคสที่ยุ่งยากซับซ้อนได้ ระบบมันออกแบบมาให้ทำได้ทุกอย่างบนรถคันนี้” รศ.ทพ.แสวง ย้ำ
ช่วยแก้ปัญหา-เพิ่มการเข้าถึงหมอฟัน แต่ต้องการแรงผลักดัน
แม้จะเป็นของใหม่และอาจยังไม่เป็นที่นิยม แต่ รศ.ทพ.แสวง ก็อยากให้มองถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากรถทันตกรรม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่เข้าถึงบริการทันตกรรมได้ยาก ซึ่งรถทันตกรรมนี้จะเป็นนวัตกรรมบริการใหม่ให้กับคนไทย ช่วยให้เข้าถึงหมอฟันได้ง่ายมากขึ้น และหมอฟันเองก็จะมีโอกาสได้ทำงานเพื่อสังคมมากขึ้นกว่าเดิมด้วยเช่นกัน
เขาชวนเรานึกภาพถึงพื้นที่ห่างไกลถิ่นทุรกันดาร ซึ่งไม่เพียงคลินิกทันตกรรม ทว่าโรงพยาบาลเองก็ยังเดินทางไปได้ยาก แต่หากอย่างน้อยเรามีรถทันตกรรมเคลื่อนที่เข้าไปถึง ก็จะทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีโอกาสทำฟันเหมือนกับประชาชนที่อยู่ในเขตเมือง
รศ.ทพ.แสวง สะท้อนถึงตัวเลขการเข้าถึงบริการทันตกรรมในปัจจุบัน ซึ่งภาพรวมคนไทยมีโอกาสได้ทำฟันเพียงแค่ 9% เท่านั้น ขณะที่คนอีกจำนวนมากเข้าไม่ถึง โดยมีจำนวนไม่น้อยที่ไม่เคยไปพบหมอฟันเลย และอีกมากที่ป่วยด้วยโรคฟัน โรคเหงือก และโรคทางช่องปาก
ในส่วนปัจจัยที่ทำให้การเข้าถึงบริการทันตกรรมเกิดขึ้นได้น้อย รศ.ทพ.แสวง อ้างอิงถึงงานวิจัยที่สังเคราะห์ออกมาได้เป็น 3 ด้าน คือ
1. การเดินทางไปคลินิกทำฟันหรือโรงพยาบาลรัฐเพื่อทำฟันไม่สะดวก
2. เมื่อต้องไปก็มีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ยิ่งกับประชาชนสิทธิบัตรทองที่อยู่ห่างไกล แม้จะได้สิทธิรักษาทำฟันโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ค่าเดินทางเพื่อไปรับบริการก็สูงอย่างมาก
3. ความเชื่อกลัวหมอฟัน กลัวเจ็บ
“แต่การไม่ไปพบหมอฟันเลย ไม่รู้วิธีดูแลสุขภาพช่องปาก ไม่เคยตรวจเช็ก มันนำไปสู่โรคทางช่องปากที่สะสมและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมันจะทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยและมีผลต่อคุณภาพชีวิต เพราะคุณใช้ฟันไม่ได้ กินข้าวไม่ได้ มันกระทบต่อสุขภาพแน่นอน” นายกสมาคมรถทันตกรรมฯ ให้ภาพ
จากปัจจัยช่องโหว่ต่างๆ ที่ทำให้การเข้าถึงทันตกรรมของคนไทยติดขัด รศ.ทพ.แสวง มั่นใจว่าการเข้ามาของรถทันตกรรมเคลื่อนที่จะช่วยแก้ปัญหาได้ และเป็นบริการทำฟันที่ยึดเอาประชาชนหรือผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง เป็นการทำงานเชิงรุกที่นำบริการสุขภาพไปถึงประชาชน แต่การจะเกิดขึ้นได้นั้นก็ต้องการแรงสนับสนุนเช่นกัน
ส่วนใหญ่ ‘ขาดทุน-ทำเอามันส์’ หากรัฐหนุนจะยั่งยืน
สำหรับเงื่อนไขการนำรถทันตกรรมวิ่งออกไปให้บริการในแต่ละครั้งนั้น รศ.ทพ.แสวง ระบุว่าคลินิกที่มีรถทันตกรรมเคลื่อนที่จะออกไปให้บริการตามอำเภอใจไม่ได้ หากจะต้องมีคู่สัญญาการออกไปให้บริการ โดยอาจเป็นโรงเรียน บริษัทเอกชน โรงงาน หรือในเรือนจำ ซึ่งจะเป็นการให้บริการที่ร่วมมือกับกองทุนสุขภาพต่างๆ
ทั้งนี้ เมื่อมีคู่สัญญาการให้บริการ ก่อนถึงวันออกไปบริการอย่างน้อย 5 วัน จะต้องแจ้งให้กับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สธ. ได้รับทราบเพื่อขออนุญาตออกไปบริการ พร้อมแจ้งรายชื่อทันตแพทย์ เลขที่ใบประกอบโรคศิลป์ และรายชื่อบุคลากรเจ้าหน้าที่ทั้งหมดไปยัง สธ. เพื่อใช้ในการกำกับ ติดตาม ตรวจสอบการให้บริการของรถทันตกรรมเคลื่อนที่
มากไปกว่านั้น ยังมีข้อกำหนดสำคัญของทันตแพทย์ที่ออกไปให้บริการ คือ ทันตแพทย์ 1 คน จะให้บริการได้ไม่เกิน 25 เคสต่อวัน
“การเอารถทันตกรรมเคลื่อนที่ออกไปบริการแต่ละครั้ง จะมีต้นทุนอย่างน้อยคือ 2.6 หมื่นบาทต่อวัน” รศ.ทพ.แสวง ให้ข้อมูล พร้อมอธิบายว่าจำนวนนี้จะแบ่งเป็นค่าน้ำมัน ค่าเบี้ยเลี้ยง-เงินเดือนทันตแพทย์ ผู้ช่วยทันตแพทย์ เจ้าหน้าที่ และคนขับรถ โดยเมื่อหักลบค่าใช้จ่ายแล้ว เขาบอกว่าส่วนใหญ่นั้น ‘ขาดทุน’
“อย่างเราไปให้บริการที่โรงงาน รถทันตกรรมเคลื่อนที่ 1 คัน มากสุดมีหมอฟัน 2 คน รับเคสรวมกันได้ไม่เกิน 50 เคสต่อวัน เบิกชดเชยค่าบริการจากประกันสังคมได้รายละ 900 บาท จะเป็นเงิน 4.5 หมื่นบาท หักแล้วเหลือไม่เท่าไร เอาง่ายๆ ถ้าน้อยกว่านี้ก็ขาดทุน หรือบางครั้งออกไปแต่มีคนมาใช้บริการแค่ไม่ถึง 10 คน ไม่ตรงตามเป้า ก็ขาดทุนยับๆ เลย” รศ.ทพ.แสวง ให้ตัวอย่าง
ในทางกลับกันการเข้าไปบริการในโรงเรียน เรือนจำ หรือการออกหน่วยไปกับโรงพยาบาลรัฐในพื้นที่ห่างไกล ทำให้ประชาชนสิทธิบัตรทองที่มาใช้บริการมีรอยยิ้ม ดีใจ มีความสุข หรืออย่างในเรือนจำ ที่ผู้ต้องขังบางคนอาจไม่เคยคาดคิดว่าจะมีหมอฟันเข้ามาหาเขาถึงในนี้ รศ.ทพ.แสวง ระบุว่าทั้งหมดนี้คือ ‘กำไร’ ที่เป็นกำลังใจของหมอฟันด้วยเช่นกัน
“ทำเอาสะใจน่ะ” นายกสมาคมรถทันตกรรมเคลื่อนที่แห่งประเทศไทย กล่าวพร้อมหัวเราะ
เขาเสริมอีกว่า คลินิกทำฟันที่มีรถทันตกรรมเคลื่อนที่ส่วนใหญ่จึง ‘ขาดทุน’ แต่ก็ ‘ทำเอามันส์’ เพราะถือเป็นของใหม่ และอยากให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลได้เข้าถึงบริการบ้าง
เชื่อช่วยอุดช่องโหว่ หนุนยกระดับ ‘30 บาทรักษาทุกที่ฯ’
เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ที่รถทันตกรรมเคลื่อนที่ จะสามารถออกมาให้บริการประชาชนได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง รศ.ทพ.แสวง ระบุว่าหากทันทีที่รัฐบาลสนับสนุน โอกาสที่จะเกิดระบบบริการนี้ก็เป็นไปได้มากทีเดียว
เขาสรุปว่าเรื่องนี้จึงขึ้นอยู่กับรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น สธ. และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่าจะมีกิจกรรมใดบ้างที่รถทันตกรรมเคลื่อนที่ได้เข้าไปช่วยบริการประชาชน หรือมีเป้าหมายด้านสุขภาพช่องปากที่เชื่อมโยงมาถึงบริการจากรถทันตกรรมเคลื่อนที่ โดยเชื่อว่าหากมีความชัดเจนในเชิงนโยบาย ก็จะเพิ่มจำนวนรถทันตกรรมเคลื่อนที่ให้มากขึ้นเพื่อรองรับภารกิจได้ไม่ยาก
ตัวอย่างเช่นโครงการยกระดับ “30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” ที่มุ่งเน้นให้หน่วยบริการภาคเอกชนเข้ามาร่วมเป็นหน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ เพื่อให้บริการแก่ประชาชนสิทธิบัตรทอง ซึ่งรวมถึงคลินิกทันตกรรมที่ได้เข้ามามีส่วนช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการทำฟันได้สะดวกมากขึ้น มีตัวเลือกมากกว่าไปโรงพยาบาลรัฐ
“แม้จะดี แต่ก็ยังมีช่องโหว่ เพราะคลินิกทำฟันส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมก็อยู่ในตัวจังหวัด ตัวอำเภอ แต่ประชานในพื้นที่ห่างไกลก็ยังเข้าไม่ถึง รถทันตกรรมเคลื่อนที่ช่วยได้แน่นอน” เขาตอกย้ำ
แต่ขณะเดียวกัน การจะเข้าไปให้บริการในโครงการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ แล้วเบิกจ่ายชดเชยเท่ากันกับคลินิกทันตกรรม เขาก็เห็นว่าน่าจะไม่คุ้มค่า เพราะต้นทุนการบริการมีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นค่ายาชา ค่าน้ำมันที่วิ่งออกไปบริการ แต่หากมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ และต้องการให้รถทันตกรรมเคลื่อนที่เข้าไปมีส่วนร่วมด้วยจริง ก็เป็นที่น่ายินดีอย่างมาก